Sunday, November 25, 2007

คุณธรรมนำความรู้


คุณธรรมคืออะไร
การช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ และการแบ่งปัน (หรือให้ทาน) นั้น จัดว่าเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง และเมื่อพูดถึงคุณธรรมแล้ว เรามักนึกว่าเป็นเรื่องสมัครใจ คือทำก็ดี ไม่ทำก็ไม่เป็นไร ความคิดเช่นนี้เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้วก็ถือว่าไม่ผิด แต่มีหลายกรณีที่เป็นข้อยกเว้น เพราะในบางสถานการณ์หรือในบางสถานะ คุณธรรมคือหน้าที่เลยทีเดียว สำหรับผู้ที่เป็นพ่อหรือแม่ คุณธรรมที่มีต่อลูก เช่น การเสียสละให้ลูกได้กินอิ่มนอนอุ่นนั้น ถือว่าเป็นหน้าที่ หาใช่เรื่องความสมัครใจไม่ ในทำนองเดียวกันการทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของครูต่อศิษย์ ในวัฒนธรรมไทย มีหลายสถานภาพที่มาพร้อมกับหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือเจือจานผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ "ต่ำ" กว่า เช่น พี่กับน้อง ผู้ใหญ่กับผู้น้อย เจ้านายกับลูกน้อง เป็นต้น ในบางสถานการณ์ การช่วยเหลือก็ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ไม่ใช่แค่เรื่องสมัครใจเท่านั้น เช่น เมื่อเห็นคนกำลังจมน้ำ คนที่อยู่บนบกจะถือว่าธุระไม่ใช่ ช่วยก็ได้ ไม่ช่วยก็ได้ หาได้ไม่ ในยามนั้นทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือคนที่กำลังจะจมน้ำตาย ถ้าไม่ทำย่อมถูกตำหนิ ติเตียน คุณธรรมที่ถือว่าเป็นหน้าที่นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "หน้าที่ทางศีลธรรม" ทุกสังคมหรือทุกวัฒนธรรมย่อมกำหนดหน้าที่ทางศีลธรรมไว้สำหรับบุคคลอย่างน้อยก็เมื่ออยู่ในบางสถานะหรือในบางสถานการณ์ หน้าที่ทางศีลธรรมต่างจากหน้าที่ตามกฎหมาย เพราะไม่มีการตราเป็นข้อบังคับหรือลายลักษณ์อักษร แต่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ผู้ที่ละเมิดหรือละเลย แม้จะไม่ถูกลงโทษตามกฎหมาย แต่ก็ถูกตำหนิ ติเตียนจากสังคม หรือถึงกับไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย



ค่าของคน-นิทาน
ในกาลครั้งหนึ่งยังมียายแก่คนหนึ่ง สามีเสียชีวิต ส่วนลูกหลานก็แยกย้ายกันไปอยู่ที่อื่น ยายแก่ทำมาหากินอยู่ตัวคนเดียวด้วยความขยันขันแข็งมาตลอด แกเก็บเล็กผสมน้อย ใช้จ่ายอย่างกระเหม็ดกระแหม่ จึงสะสมเงินทองไว้ได้พอสมควร แกจึงไปซื้อไหเก่าใบหนึ่งมาใส่เงินนั้นไว้ จะไปไหนก็จะอุ้มไหติดตัวไปด้วย และไม่เคยเปิดไหอวดใครเลย ครั้นเมื่อยายอายุมากขึ้นๆ ทำงานอย่างเดิมไม่ไหว ลูก หลาน ซึ่งพากันคิดว่ายายแก่คงจะต้องมีทรัพย์สมบัติมาก จึงพากันมารับยายแก่ไปอยู่ด้วย ยายแก่ก็รู้เท่าทันแต่ก็ทำเฉยเสีย ช่วยลูกหลานทำงานสุดกำลัง เพื่อไม่ให้ลูกหลานดูถูกได้ว่าเสียข้าวสุกเปล่า หรือเกาะเขากิน จนวันหนึ่งแกลงไปดายหญ้าทำสวนอยู่คนเดียว แดดก็จัด แกรู้สึกปวดหลังเป็นกำลังถึงกับล้มฟาดไปไม่รู้ตัว หมดสติอยู่กลางแดดเป็นเวลานานกว่าลูกหลานจะมาพบ และช่วยกันอุ้มเข้าบ้าน เมื่อแกฟื้นขึ้นมาปรากฏว่าแกเป็นอัมพาตพอจะพูดและเคลื่อนไหวได้บ้าง รักษาอยู่เป็นเวลานานก็ไม่ทุเลา แกใช้เงินที่แกสะสมไว้เป็นค่ารักษาจนหมด ลูกหลานทั้งหลายพากันเดาว่ายายแก่คงใช้เงินรักษาจนหมดตัวแล้ว จึงพากันตีตัวออกห่าง ในที่สุดเพื่อนบ้านแถวนั้นทนไม่ได้จึงผลัดกันมาดูแลยายแก่ แต่ทุกคนก็มีหน้าที่การงานต้องทำจะมาพยาบาลอยู่นานก็ไม่ได้ ยายแก่จึงต้องช่วยตัวเองซะส่วนมาก จะไปถ่ายอุจระก็ไม่ได้ ไหของแก เมื่อเงินทองหมดก็ยังว่างเปล่าอยู่ แกจึงถ่ายอุจระไว้ในไหนั้นทุกวัน แล้วก็ปิดฝาไว้ เมื่อมีชาวบ้านมาเยี่ยม แกก็เริ่มคุยอวดชาวบ้านว่าความจริงเงินของแกก็ยังพอจะมีเหลือ "ฉันกันเงินของฉันไว้ส่วนหนึ่ง เอาไว้ตอนเข้าตาจน ไม่เชื่อลองโยกไหดูสิ"ชาวบ้านต่างก็ลองเอามือผลักไหดู ก็เชื่อว่ามีเงินอยู่ในนั้นแน่ พอกลับบ้านต่างคนก็ต่างไปเล่าต่อๆกัน "ยายแก่ แกยังมีเงินเหลืออยู่ไม่น้อยเลย ไหที่ใส่ไว้หนักอึ้งทีเดียว" ความนี้ในที่สุดก็ไปเข้าหูหลานๆของยายแก่ ด้วยความละโมบจึงพากันกลับมาคอยรับใช้ยายแก่อีกต่างคนก็ชิงกันเอาใจยายแก่ เพราะหวังจะครอบครองทั้งทองและเงินในไห ต่อมาไม่นานยายแก่ก็ถึงอายุขัย หลานๆก็จัดงานศพเสียงดงามเมื่อเสร็จจากงานศพแล้ว ลูกหลานทุกคนก็ต่างคิดบัญชีค่าใช้จ่าย เพื่อจะได้แบ่งเงินในไหว่าใครได้ส่วนแบ่งมาก ใครได้น้อย พอคิดบัญชีเสร็จแล้วก็ยังทะเลาะกันจนยุติไม่ได้ เพราะต่างคนก็อยากจะได้มาก ไม่มีใครยอมใคร ในที่สุดก็ตกลงให้เปิดไหก่อนเพื่อจะนับเงินทอง แต่แล้วทุกคนก็ต้องผิดหวัง เพราะพอเผยอฝาไหออก กลิ่นอุจระก็เหม็นคลุ้ง จนทุกคนผงะหงาย